เปิดคำขอแก้ รธน. (จบ): รัฐธรรมนูญในฝันของ ครม. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 8 คณะ เข้าชี้แจงเหตุผลต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2558 ก็ถึงคิวของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ส่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน ครม. เข้าชี้แจง

สำหรับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของ ครม. จะมีทั้งสิ้น 117 ประเด็น แต่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเพียง 113 มาตรา

นอกจากนี้ คำขอของ ครม.ยังแตกต่างจากคำขอของ สปช. อีก 8 คณะ เพราะเป็นคำขอเดียวที่ไม่ได้ลงรายละเอียด “โดยทันที” ว่าอยากแก้ไขเนื้อหาในมาตราใด อย่างไร ด้วยเหตุผลใด

แต่มีการระบุ “เนื้อหาพิเศษ” 2 ส่วน คือ 1. สิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็น ซึ่งจะอยู่ และ 2. คำวิจารณ์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ.ยกร่างฯ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน โดยรวม

จากนั้นค่อยลงรายละเอียดแก้ไขรายประเด็น/มาตรา

5 ความต้องการ “บิ๊กตู่” ติง กม. สูงสุดต้องไม่จุดชนวนขัดแย้ง

สำหรับเนื้อหาส่วนพิเศษในคำขอของ ครม. มีดังนี้

แนวทางของนายกรัฐมนตรี

1.1) บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญควรสะท้อนหลักคิดที่ให้ยึดประเทศชาติและประชาชนเป็นศูนย์กลาง และให้ความสำคัญแก่ประเทศชาติและประชาชนยิ่งกว่าท้องถิ่น ภาค พรรคการเมือง หรือประโยชน์ส่วนบุคคล หรือองค์กรของตนเอง

1.2) รัฐธรรมนูญควรสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของสังคมไทย ซึ่งมีปัญหาหรือวิกฤติที่มีลักษณะเฉพาะ ขณะเดียวกันก็ต้องสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การเป็นรัฐเดี่ยว แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการสากลด้วย โดยควรเรียนรู้และถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของไทยในอดีตและประสบการณ์ของประเทศที่เคยมีวิกฤติแต่สามารถผ่านพ้นวิกฤติเข้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปจนสามารถฟื้นตัวได้สำเร็จ มาประยุกต์ใช้

1.3) บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญต้องเป็นเครื่องมือให้นำไปใช้เป็นเหตุก่อความขัดแย้ง สังคม ปัญหาต่างๆ ต้องมีทางออก มีหนทางให้ผู้ปฏิบัติสามารถขอความชัดเจนได้ โดยเฉพาะในยามวิกฤติ ทั้งไม่ควรก่อภาระด้านงบประมาณแก่ประเทศชาติมากเกินความจำเป็น และควรคำนึงถึงการสามารถนำไปปฏิบัติและป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้จริง มิใช่แต่เพียงในทางทฤษฎีเท่านั้น

1.4) การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องสามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วตามยุทธศาสตร์ชาติและความจำเป็นของบ้านเมืองโดยไม่ชะงัก เพราะถูกปิดกั้นโอกาสหรือเกิดความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ

1.5) บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ควรยืดยาว ปฏิบัติยาก หรือเข้าใจได้ยาก และต้องไม่เคร่งครัดตายตัวจนเกินไป เรื่องใดที่ยังไม่แน่ใจในวิธีการและผลกระทบ หรือยังมีความขัดแย้งกันอยู่ หรือต้องการการพิจารณาที่รอบคอบ กว้างขวาง หลากหลาย จากผู้เกี่ยวข้อง อาจนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น ส่วนเรื่องใดที่เป็นโครงสร้างของรัฐ จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เห็นได้ว่าเหมาะที่จะใช้แก้ปัญหาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหรือระยะเปลี่ยนผ่านเท่านั้น ก็ควรนำไปบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลซึ่งเมื่อพ้นระยะนั้นแล้วก็ให้สิ้นสุดลง

ครม. ชำแหละ รธน. บวรศักดิ์ “ยาวเกินจำเป็น-รบ.ทำงานยาก-พรรคอ่อนแอ”

ข้อสังเกตทั่วไปของ ครม.

2.1) ข้อความบางมาตรายังยืดยาว หรือฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น บางมาตราไม่ชัดเจน ว่าหมายถึงอะไร บางมาตราเคร่งครัดจนปฏิบัติได้ยากและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นไป

2.2) บางมาตราอาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การชะงักงัน ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าดำเนินการ เพราะเกรงว่าจะละเมิดรัฐธรรมนูญ

2.3) การเมืองมีองค์กรหรือคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญหรือที่รัฐธรรมนูญระบุให้ไปจัดตั้งขึ้นภายในเวลาที่กำหนดเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากภายในเวลาใกล้เคียงกัน จึงน่าจะเป็นภาระด้านงบประมาณ ทั้งบางองค์กรยังมีหน้าที่ใกล้เคียงกันจนน่าจะยุบรวมกันได้ บางองค์กรอาจถือโอกาสแสดงบทบาทและดำเนินการในลักษณะของการสร้างความสำคัญหรือการใช้อำนาจจนเกิดผลกระทบต่อองค์กรอื่นหรือประชาชนซึ่งต่อไปจะยากต่อการตรวจสอบควบคุม

2.4) กลไกและมาตรการบางเรื่องเสี่ยงต่อการทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพและการเมืองอ่อนแอ พรรคการเมืองก็อาจจัดตั้งกลุ่มการเมืองเป็นตัวแทน (nominee) เพื่อแยกกันดำเนินการทางการเมือง

2.5) บทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปมีรายละเอียดมาก หลายเรื่องอาจยังขัดแย้งกันจึงควรกำหนดเพียงกลไกนำไปสู่การปฏิรูป [รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 (10) กล่าวถึงการต้องระบุกลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญๆ ให้สมบูรณ์] และควรให้ความสำคัญกับแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพของงานเป็นลำดับแรก แล้วจึงตามด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ในฐานะกลไกขับเคลื่อนดังที่รัฐบาลได้แบ่งขั้นตอนในการปฏิรูป ออกเป็นระยะแรกซึ่งทำได้ทันที ระยะกลางซึ่งทำในระยะต่อไป และระยะยาวซึ่งสานต่อเพื่อการปฏิรูปอย่างยั่งยืน โดยกรอบการปฏิรูปไม่ควรกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาสาระทั้งหมดเพราะสามารถนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายลำดับรอง มิฉะนั้น รัฐบาลในอนาคตอาจถูกผูกมัดหรือปิดล้อมด้วยกรอบแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านหนึ่ง และกรอบการปฏิรูปที่ละเอียดและเคร่งครัดอีกด้านหนึ่ง จนยากต่อการกำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินของตนเองตามความจำเป็นของสถานการณ์ในอนาคต

ขอแก้เนื้อหา 1 ใน 3 – เปิด รธน.ในฝัน ครม. ประยุทธ์

สำหรับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของ ครม. มีการขอให้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ของ กมธ.ยกร่างฯ ถึง 113 มาตรา จากทั้งหมด 315 มาตรา คิดเป็นร้อยละ 35.8% หรือเกินกว่า 1 ใน 3

โดยมาตราที่ ครม. ไม่ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติม มีจำนวน 202 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 1-6, มาตรา 8-31, มาตรา 33-37, มาตรา 39-42, มาตรา 45-46, มาตรา 48-49, มาตรา 51, มาตรา 53-59, มาตรา 61, มาตรา 63, มาตรา 65-70, มาตรา 73, มาตรา 78-80, มาตรา 82-101, มาตรา 104, มาตรา 106, มาตรา 108, มาตรา 110, มาตรา 115, มาตรา 118-119, มาตรา 122-123, มาตรา 125-129, มาตรา 131-132, มาตรา 134-142, มาตรา 146, มาตรา 149-150, มาตรา 156-158 ,มาตรา 161-162, มาตรา 164-166, มาตรา 169, มาตรา 172-173, มาตรา 176-178, มาตรา 180, มาตรา 183, มาตรา 186-192, มาตรา 194-197, มาตรา 199, มาตรา 203-206, มาตรา 208, มาตรา 210-214, มาตรา 216, มาตรา 220-2 21, มาตรา 223-224, มาตรา 227, มาตรา 231-235, มาตรา 238-239, มาตรา 242, มาตรา 244-246, มาตรา 250, มาตรา 252, มาตรา 254, มาตรา 256-260, มาตรา 262, มาตรา 264, มาตรา 269-270, มาตรา 272-273, มาตรา 277, มาตรา 287-299, มาตรา 301-304, มาตรา 306-310 และมาตรา 314-315

เมื่อพิจารณาแนวทางนายกฯ รวมถึงข้อสังเกตทั่วไปของ ครม. ประกอบกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกขอให้แก้ไข ก็จะพอเห็นเค้าลางได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ ครม.ประยุทธ์ ต้องการให้เป็น หรือ “ร่างรัฐธรรมนูญในฝัน” มีหน้าตาเป็นอย่างไร

ไม่เอากลุ่มการเมือง-ส.ว.เลือกตั้งไม่ต้องกลั่นกรอง

1. ระบบเลือกตั้ง ที่มาของ ส.ส. และ ส.ว.

(ระบบเลือกตั้ง ส.ส. สัดส่วนผสม)

– ครม. ขอเสนอว่า ควรใช้การเลือกตั้ง ส.ส. ระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 จะเหมาะสมกว่าหรือไม่ เพราะประชาชนคุ้นเคยกับบัญชีรายชื่อมาตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2540  และเข้าใจว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือบุคคลที่พรรคการเมืองจะเลือกไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ส่วน ส.ส.เขต ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่การที่ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดใช้ใช้การเลือกตั้งสัดส่วนผสม มี ส.ส.เขต 250 คน และบัญชีรายชื่อระบบภาค 200-220 คน จะทำให้ ส.ส. 2 ประเภทนี้ไม่มีความแตกต่างกัน เพราะใช้พื้นที่เป็นหลักเหมือนกัน (มาตรา 1035 มาตรา 105 มาตรา 107)

(กลุ่มการเมือง)

– ครม. ขอให้ ตัดการให้ “กลุ่มการเมือง” ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. ได้ เพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย อาจทำการเมืองสับสนอลหม่านมากขึ้น พรรคการเมืองอาจตั้งกลุ่มการเมืองเป็นนอมินี (nominee) เหมือนมุ้งเล็กที่แยกจากมุ้งใหญ่  (มาตรา 105 มาตรา 107 มาตรา 112 มาตรา 114 มาตรา 120 มาตรา 168 มาตรา 307 มาตรา 308)

(ห้ามผู้ถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองก่อนหน้านี้ ทั้งบ้านเลขที่ 111 บ้านเลขที่ 109 รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงสมัคร ส.ส. และเป็นรัฐมนตรี)

– ครม. ขอเพิ่มเติม ห้ามผู้ถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง “ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้” นั่นคือไม่ห้ามผู้เคยถูกถอดถอนฯ หรือถูกตัดสิทธิฯ ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ทั้งบ้านเลขที่ 111+109 หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถลงสมัคร ส.ส. หรือเป็นรัฐมนตรีได้ หากพ้นจากเวลาที่ถูกตัดสิทธิฯ (มาตรา 111)

(ที่มา ส.ว.)

– ครม. เสนอว่า เห็นด้วยกับที่มา ส.ว. 2 ประเภท คือ ให้มาจากการสรรหา/คัดเลือกกันเอง จากอดีตข้าราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนกลุ่มอาชีพ รวม 173 คน ที่เหลือให้มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน “แต่ขอให้ตัดเรื่องการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ว. จังหวัดออก” เพราะในทางปฏิบัติคงมีจังหวัดที่มีผู้สมัคร ส.ว. เกิน 10 คนไม่มากนัก เมื่อจะให้มีการเลือกตั้งอยู่แล้ว ควรจะให้ผู้สมัครทุกคนไปสู่การเลือกตั้งโดยตรง (มาตรา 121)

(เพิ่มอำนาจ ส.ว. ให้ตรวจสอบรายชื่อรัฐมนตรีก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง)

– ครม. ขอให้ ตัดอำนาจ ส.ว. ในการพิจารณาให้ความเห็นรายชื่อรัฐมนตรีก่อนนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง เพราะเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ยาก ทำให้กระบวนการแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือปรับ ครม. ล่าช้า ไม่เป็นความลับ อาจก่อปัญหาทางการเมืองในสังคมไทยได้ (มาตรา 130 และมาตรา 174)

[ให้มี “คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.)” เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)]

– ครม. ขอเสนอว่า ให้ กกต. เป็นผู้จัดการเลือกตั้งดังเดิม เพราะการให้ กจต. ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายข้าราชการเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง มีแต่ข้อเสีย

(ถ้าการเลือกตั้งถูกขัดขวาง)

ครม. ขอเพิ่มเติม กรณีมีเหตุใดๆ ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถกระทำในวันเดียวกันได้ทั่วราชอาณาจักร

“ให้ กกต. งดการเลือกตั้งตาม พรฎ. แล้วกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้” และให้นายกรัฐมนตรีเสนอ พรฎ. ตามที่ กกต. เสนอ โดยไม่กระทบต่อสิ่งที่ กกต. ดำเนินการไปก่อนหน้านั้นแล้ว (มาตรา 117)

ตัด ม.181+182 – ยุบ คกก. แต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม

2. คณะรัฐมนตรี และการทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร

(ให้บุคคลซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. มาเป็นนายกฯ โดยได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ขึ้นไป หรือให้มี “นายกฯ คนนอก” ได้)

– ครม. ไม่ได้เสนอแก้ไข (มาตรา 172)

(นายกฯ สามารถเสนอขอเสียงไว้วางใจจากสภา โดยประธานสภาต้องเปิดให้ลงมติภายใน 7 วัน ระหว่างนั้นฝ่ายค้านจะยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ได้)

– ครม. ขอให้ ตัดมาตรานี้ออก เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แม้จะใช้ได้ผลในบางประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส แต่ไม่น่าจะเกิดประโยชน์แก่การพัฒนาและแก้ไขวิกฤติการเมืองในประเทศไทย ตรงกันข้ามอาจก่อให้เกิดความสับสนทางการเมือง ในทางปฏิบัติอาจเป็นช่องทางให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ (มาตรา 181)

(นายกฯ เสนอร่างกฎหมายพิเศษต่อสภาได้ ซึ่งหากไม่มี ส.ส. ขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ภายใน 48 ชั่วโมง จะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที)

– ครม. ขอให้ตัดมาตรานี้ออก เพราะเป็นเรื่องใหม่ และประโยชน์ที่จะเกิดจากเรื่องนี้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังน่าสงสัยอยู่ จึงดูเป็นการชิงไหวชิงพริบในทางการเมือง การคงมาตรานี้ไว้ทำให้เกิดความหวาดระแวงหรือไม่ไว้วางใจว่ารัฐบาลอาจใช้มาตรานี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเพื่อชิงผ่านร่างกฎหมายที่ไม่พึงประสงค์ โดยไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลแต่เพื่อถือโอกาสผ่านกฎหมายที่สังคมยังถกเถียงกันและไม่ยอมรับ (มาตรา 182)

(ให้มี “คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม” ประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายราชการ มาทำหน้าที่แต่งตั้งปลัดกระทรวงแทน ครม.)

– ครม. ขอให้ตัดมาตรานี้ออก แล้วนำไปไว้ในกฎหมายลำดับรอง ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าระบบและวิธีใดเหมาะสมที่สุด (มาตรา 207)

(การสั่งการให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร เว้นแต่กรณีฉุกเฉินให้สั่งการด้วยวาจาได้)

– ครม. ขอให้ตัดมาตรานี้ออก เพราะนำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นได้

(ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน ครม. ในช่วงยุบสภา)

– ครม.ขอให้ ตัดการให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน ครม.ในช่วงยุบสภาออก เพราะเป็นเรื่องไม่น่าจะเหมาะสม ถ้าจะหวังให้ฝ่ายการเมืองไปหาเสียงโดยไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ต้องระวังว่าข้าราชการประจำแม้อยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงก็อาจสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบแก่นักการเมืองได้ อีกทั้งประเทศไทยไม่เหมือนต่างประเทศที่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทำได้เร็ว ดังนั้น ระหว่างนั้นปลัดกระทรวงอาจรักษาการยาวนานเป็นปีได้ (มาตรา 184)

(ให้มีศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ขึ้นมาควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล)

– ครม. ไม่ได้เสนอแก้ไข (มาตรา 244)

ให้เลือกตั้งภายใน 90 วัน หลัง รธน. ประกาศใช้ – ไม่ได้ขอต่ออายุ รบ. หรือ คสช.

3. เพิ่มอำนาจพลเมือง และองค์กรใหม่ๆ

(ให้มี “สมัชชาพลเมือง” ขึ้นมาตรวจสอบการบริหารงานขององค์กรบริหารท้องถิ่น)

– ครม. ขอให้ตัดมาตรานี้ออก ไม่ให้มีการจัดตั้ง “สมัชชาพลเมือง” เพราะการเพิ่มองค์กรสมัชชาพลเมืองใหม่ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการจัดตั้งและความซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ทั้งการให้เป็นกลไกหนึ่งในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ได้ (มาตรา 215)

[ให้รวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรเดียวกันคือ “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน”]

– ครม. เสนอว่า ให้แยกผู้ตรวจการแผ่นดินฯ และ กสม. ออกจากกันเป็น 2 องค์กรดังเดิม (มาตรา 276)

(ให้มีองค์กรพิเศษขึ้นมาเดินหน้าเรื่องการปฏิรูป โดยให้ สนช. และ สปช. ชุดปัจจุบันจำนวนหนึ่งเข้าไปเป็นกรรมการ)

– ครม. เสนอว่า ให้เพิ่มงานด้าน “การปรองดอง” เข้าไปด้วย โดยให้จัดตั้งเป็น 2 องค์กร คือ 1. คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีสมาชิก 20 คน ประกอบด้วยนายกฯ ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ผบ.เหล่าทัพ อดีตนายกฯ อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานศาลฎีกา รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และ 2. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน 120 คน โดยวิธีการได้มาให้เขียนไว้ในกฎหมายลูก (มาตรา 279)

(เมื่อองค์กรพิเศษว่าด้วยการปฏิรูปเห็นว่าร่างกฎหมายใดมีความสำคัญ สามารถเสนอเป็นร่างกฎหมายให้ ส.ว. เป็นผู้พิจารณาก่อน แล้วค่อยส่งให้ ส.ส. ถ้า ส.ส. ไม่เห็นด้วยแต่ ส.ว. ยังยืนยัน ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้)

– ครม. ขอให้ตัดเนื้อหาส่วนนี้ออก แล้วกลับไปกลไกการพิจารณาร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติปกติ คือร่างกฎหมายต้องให้ ส.ส. พิจารณาก่อน ถึงส่งให้ ส.ว. กลั่นกรอง (มาตรา 280)

(เพิ่มกลไกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากขึ้น โดยต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมถึงต้องจัดทำประชามติ)

– ครม. ไม่ได้เสนอแก้ไข (มาตรา 300-302)

(ให้ “คณะกรรมการอิสระประเมินผลการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ” ทุก 5 ปี)

– ครม. ไม่ได้เสนอแก้ไข (มาตรา 303)

4. บทเฉพาะกาล

(หลังร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ให้จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 90 วัน และได้มาซึ่ง ส.ว. ภายใน 150 วัน)

– ครม. ไม่ได้เสนอแก้ไข (มาตรา 308)

(นิรโทษกรรม คสช. และผู้เกี่ยวข้อง)

– ครม. ไม่ได้เสนอแก้ไข (มาตรา 315)

หากพิจารณาจากคำขอแก้ไขของ ครม. เป็นรายประเด็น/มาตรา จะเห็นได้ว่า ครม. เองก็ค่อนข้างเป็นห่วงกับเนื้อหาที่เป็นการจำกัดการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ทั้งการเพิ่มอำนาจให้ ส.ว. ตรวจสอบรายชื่อรัฐมนตรีก่อนทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง หรือการให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม ขึ้นมาแต่งตั้งปลัดกระทรวงแทน ครม.

นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับองค์กรใหม่ๆ ที่ กมธ.ยกร่างฯ เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น กจต. สมัชชาพลเมือง หรือการรวมผู้ตรวจการฯ เข้ากับ กสม.

ที่สำคัญ ยังกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. เกิดขึ้นภายใน 90 วัน ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ตามเดิม ไม่ได้เพิ่มเนื้อหาเรื่องขอให้ต่ออายุ คสช. ครม. หรือ พล.อ. ประยุทธ์ อีก 2 ปี โดยอ้างว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เช่น คำขอแก้ไขของ สปช. กลุ่มนายมนูญ ศิริวรรณ แต่อย่างใด

ที่มา: ไทยพับลิกา