นับถอยหลังประชามติ รธน.: ว่าด้วย “ยุทธศาสตร์ชาติ” อนาคตของเรา…ใครกำหนด?

เนื้อหาสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ฉบับที่จะมีการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ อาจจะถูกใครหลายคนมองข้าม ทั้งๆ ที่จะมีผลกระทบต่อคนไทย หลังจากนี้เป็นเวลานานนับสิบปี ก็คือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ”

เหตุที่เนื้อหาตรงนี้ถูกมองข้าม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีคำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่มากนัก เพียง 8 ครั้งเท่านั้น และมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยุทธศาสตร์ตรงๆ เพียง 2 มาตรา คือในมาตรา 65 และบทเฉพาะกาล มาตรา 275 ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ

- คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน จะเป็นผู้ออก “กฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” เพราะร่างรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ต้องมีกฎหมายนี้ภายใน 120 วัน หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฯ ใช้บังคับ 

- และ ครม. ชุดปัจจุบันอีกเช่นกัน ที่จะเป็นผู้จัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ” เพราะร่างรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ต้องจัดทำยุทธศาสตร์ชาติภายใน 1 ปี นับแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติใช้บังคับ

กล่าวคือ ครม. ชุดของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติเองแบบครบวงจร โดยจะเป็นทั้งผู้ยกร่างกฎหมายว่าด้วยการจำกัดยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อกำหนดคุณสมบัติของคนที่จะมาจัดทำและกำหนดกรอบเนื้อหาที่ยุทธศาสตร์ชาติควรจะมี รวมถึงเป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ภายในปี 2560

คำถามต่อมาก็คือ แล้ว “ยุทธศาสตร์ชาติ” มีความสำคัญอย่างไร เหตุใดถึงบอกว่าจะมีผลกระทบต่อคนไทยไปนานนับสิบปี

คำตอบก็คือ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดให้ ครม. ชุดต่อไปที่จะมาจากการเลือกตั้ง จะต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ให้สอดคล้องกับ “ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ” (มาตรา 142) และจัดทำนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา ให้สอดคล้องกับ “หน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ” (มาตรา 162)

นั่นคือ “ยุทธศาสตร์ชาติ” จะเป็นกรอบอย่างหนึ่งในการจัดทำนโยบายและการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปนั่นเอง

ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับที่จะมีการออกเสียงประชามติ กำหนดไว้อยา่งชัดเจนว่า รัฐบาลชุดต่อไปจะต้องเขียนนโยบายและจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตามกรอบที่ยุทธศาสตร์ชาติวางเอาไว้แล้ว

ว่าแต่ “ยุทธศาสตร์ชาติ” คืออะไร และจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้เขียนอธิบายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติไว้ในมาตรา 65 ว่า หมายถึง “เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว”

“การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย

“ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”

สำหรับหน้าตาของยุทธศาสตร์ชาติในปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ เพราะรายละเอียดทั้งหมดจะปรากฏอยู่ในกฎหมายลูกซึ่ง ครม. ชุดปัจจุบันจะจัดทำขึ้นมา หากร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ผ่านการออกเสียงประชามติ

อย่างไรก็ตาม หากดูจากที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เตรียมการมาตั้งแต่ปี 2558 โดยที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี หรือระหว่างปี 2560-2579 โดยมี “พล.อ. วิลาศ อรุณศรี” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน (ดูองค์ประกอบคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ ได้ในเอกสารสรุปมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558)

โดยมีการกำหนดแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไว้ว่า ต้องเชื่อมโยงกับกรอบการปฏิรูป ทั้ง 11 ด้าน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และนโยบายของ ครม. ชุดปัจจุบัน ที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่จัดทำโดยคณะกรรมการซึ่งจัดตั้งตามมติ ครม. ดังกล่าว จะกลายร่างมาเป็น “ยุทธศาสตร์ชาติ” ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้

พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บุคคลสำคัญที่ ครม.ชุดปัจจุบัน แต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่มาภาพ : www.tnamcot.com/content/261178

ขณะที่ร่างกฎหมายซึ่งน่าจะมาเป็นโมเดลสำหรับ “กฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 275 ก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. …. ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559

โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ได้แก่

1. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีจำนวน 25 คน มีนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เป็นประธานโดยตำแหน่ง ร่วมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ อีก 22 คน ที่มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา มีหน้าที่ในการกำหนดแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดเป้าหมายและระยะเวลาการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรของประเทศเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละห้วงเวลา ฯลฯ

2. คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีจำนวนไม่เกิน 29 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีหน้าที่ในการผลักดันให้มีการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ ติดตามและประเมินผลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ รวบรวมความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ

โครงสร้างการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งปรากฎอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ซึ่งที่ประชุม สปท. มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบัน ดูจะให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาตินี้ค่อนข้างมาก เห็นได้จากการที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า การปฏิรูปประเทศที่ทำในรัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ก่อนส่งมอบต่อให้รัฐบาลชุดหน้าเข้ามาสานต่อ โดยจะมียุทธศาสตร์ชาติเป็นตัวกำกับให้เดินหน้าปฏิรูปประเทศตามกรอบที่มีการวางเอาไว้แล้ว

ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ยังมีบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ให้ ส.ว. ชุดแรก จำนวน 250 คน มาจากการสรรหาโดย คสช. ทั้งหมด และจะมี “อำนาจหน้าที่พิเศษ” นอกเหนือจาก “อำนาจหน้าที่ปกติ” ที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ นั่นคือ ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย และให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ โดย ครม. ชุดต่อไปจะต้องรายงานความคืบหน้า 2 เรื่องนี้ให้ที่ประชุมรัฐสภาทราบทุกๆ 3 เดือน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฯ เขียนว่า รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นจะถูกฟ้องร้องต่อศาล หรือนำไปสู่การถอดถอน ครม. ออกจากตำแหน่งได้

อนาคตของพวกเราใครกำหนด?

หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ” คำตอบอาจปรากฎลางๆ อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฯ และการเตรียมการต่างๆ ของ ครม. ชุดปัจจุบัน

แต่หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ แล้ว ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ เราทุกคนมีสิทธิเข้าไปกำหนดคำตอบด้วยตัวเองผ่านบัตรลงคะแนนเสียงประชามติ จะกา “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ทั้งคำถามหลัก-คำถามพ่วง ก็อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละคนจะตัดสินใจ บนพื้นฐานของข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในเอกสารที่เกี่ยวข้อง และตามหน้าสื่อต่างๆ

ทั้งนี้ คณะผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้ประเมินกรอบระยะเวลาที่ร่าง พ.ร.บ. นี้จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. เพื่อออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย และนำไปสู่การเริ่มต้นสรรหากรรมการที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติชุดต่างๆ ในช่วงปลายปี 2559 และเริ่มต้นจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อออกมาใช้บังคับกับผู้เกี่ยวข้องราวกลางปี 2560 ซึ่งจะสอดคล้องกับกรอบระยะเวลาในการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 275 นั่นเอง

ที่มา: ไทยพับลิก้า