ใช้ค่ายทหารเป็นเรือนจำชั่วคราวเห็นด้วยหรือไม่?

คะแนนเสียงของคุณจะถูกเก็บข้อมูลแบบนิรนาม ไม่สามารถระบุผู้ลงคะแนนได้ แต่สามารถยกเลิกการลงคะแนนได้ โดยใช้ข้อมูลรหัสที่ได้รับทางอีเมล  ไม่ต้องการรับอีเมล
ลงคะแนนแล้ว 561 คน
เห็นด้วย 78ไม่เห็นด้วย 483

การมีค่ายทหารซึ่งทำหน้าที่เป็นเรือนจำไปด้วยนั้น ทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างถึงความเหมาะสม ความจำเป็น รวมถึงสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มมาจาก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 กระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งให้ กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เพื่อใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขัง ภายใต้สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยให้ตั้งอยู่ในพื้นที่กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 ถ.พระราม 5 (มทบ.11)

โดยรัฐอ้างเหตุความจำเป็นในการใช้พื้นที่ของกองทัพเป็นเรือนจำไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย และความเหมาะสมในการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภท "มีเหตุพิเศษ"

แต่โดยหลักการแล้ว เรือนจำพิเศษมีขึ้นเพื่อแยก "ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี" ออกจาก "ผู้ต้องโทษจำคุก" ที่ศาลพิพากษาแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของรัฐจะเห็นว่า "เรือนจำในค่ายทหาร" เป็น "เรือนจำพิเศษ" ที่ตั้งขึ้นเพื่อเหตุผลด้าน "ความมั่นคง" เป็นการเฉพาะ

นอกจากนี้ ผู้ดูแลเรือนจำดังกล่าวจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร 20 นาย และเจ้าหน้าที่เรือนจำ 4 นาย (อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของ อายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ) 

และที่ผ่านมา เรือนจำดังกล่าวถูกใช้เพื่อควบคุมตัวอาเดม คาราดัก และไมไรลี ยูซูฟู  ผู้ต้องขังคดีระเบิดแยกราชประสงค์ แต่ทว่าปัจจุบัน เรือนจำแห่งนี้ ถูกใช้ในการควบคุมตัวผู้ต้องหาจากกระทำความผิดฐาน "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ตาม ป.อาญา มาตรา 112 โดยมีผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวไว้ ได้แก่ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง", จิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ คนสนิทของหมอหยอง และ พ.ต.ต. ปรากรม วารุณประภา หรือ "สารวัตรเอี๊ยด"

ซึ่งถ้าเปรียบเทียบจากคดีในลักษณะเดียวกันการควบคุมผู้ต้องหาคดีอาวุธหลังรัฐประหารได้ รวมไปถึงคดีมาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันเรียกรับผลประโยชน์อื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในการควบคุมตัวอยู่ของเรือนจำปกติ ไม่เว้นแม้แต่คดี พล.ต.ต. พงศ์พัฒน์ ดังนั้น มีความจำเป็นเพียงใด ที่จะต้องให้ผู้ต้องหาจากการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องอยู่ในความ "ดูแลและคุ้มครอง" ของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยใช้พื้นที่พิเศษในค่ายทหาร และแตกต่างไปจากการควบคุมดูแลตามปกติของกรมราชทัณฑ์ 

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าผู้ต้องขังอย่างน้อยสองคน คือ สุริยัน และพ.ต.ต. ปรากรม เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ซึ่งก่อให้เกิดคำถามต่อสังคมถึงระบบภายในเรือนจำ ระบบการดูแลผู้ต้องหา ว่าได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อชีวิตของผู้ต้องหา และสมควรหรือไม่ ที่รัฐมีอำนาจแยกผู้ต้องหามาควบคุมเป็นการเฉพาะของตัวเอง

สถานะการเปิดให้โหวต: 
ปิดการโหวต

แสดงความเห็น

ประเด็นสนับสนุน

ผู้ต้องขังคดีระเบิดแยกราชประสงค์เป็นคดีร้ายแรงและมีโอกาสที่จะถูกทำให้เสียชีวิตจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย ดังนั้น การให้มาอยู่ในการควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ทหารก็จะมีความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตมากกว่า ซึ่งกรณีคดีแอบอ้างฯ ก็เช่นกัน บุคคลเหล่านี้มีความเสี่ยงจากเรื่องผลประโยชน์สูงต้องให้ทหารเป็นคนดูแล

Votes: ชอบ 0 ไม่ชอบ 1 0 ความเห็น

เดิมพิ้นที่ที่ มทบ.11 มีพื้นที่ที่เป็นเป็นเรือนจำของทหารอยู่แล้ว จึงมีความพร้อมในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมราชทัณฑ์ แม้ว่าผู้ดูแลเรือนจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร 20 นาย แต่ก็มีเจ้าหน้าที่เรือนจำอีก 4 นาย อยู่ด้วย อีกทั้งยังมีผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คอยกำกับดูแล

Votes: ไม่มีคะแนน 0 ความเห็น

ประเด็นคัดค้าน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยออกแถลงการณ์ให้ความเห็นว่า การจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวภายในค่ายทหารและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารให้เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ อาจทำให้เรือนจำดังกล่าวขาดการตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก และอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ 


Votes: ชอบ 2 ไม่ชอบ 0 0 ความเห็น

ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องให้ผู้ต้องหาจากการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องอยู่ในความ "ดูแลและคุ้มครอง" ของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยใช้พื้นที่พิเศษในค่ายทหาร เพราะคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ ทั้งคดีแอบอ้างสถาบันฯ ของเครือข่าย พล.ต.ต. พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ หรือคดีมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็น ก็ถูกคุมขังที่เรือนจำปกติร่วมกับนักโทษอื่นๆ ได้


Votes: ไม่มีคะแนน 0 ความเห็น