Error message

The specified file temporary://fileqCvKJB could not be copied, because the destination directory is not properly configured. This may be caused by a problem with file or directory permissions. More information is available in the system log.

เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติแถลงการณ์ ขอยึดมั่นในหลักเสรีภาพการแสดงออก และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ตามที่เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ กำหนดจัดกิจกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสองกิจกรรม คือ งานเสวนาสาธารณะหัวข้อ "รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?" และ งานประกวดการนำเสนอ PetchaKucha 20x20 หัวข้อ "รัฐธรรมนูญ" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 แต่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันและกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ แจ้งมายังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครว่า กิจกรรมนี้อาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อประกาศหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 จึงจำเป็นต้องขออนุญาตก่อน หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จึงยกเลิกการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมดังกล่าว ทำให้กิจกรรมทั้งสองมีอุปสรรค ต้องย้ายสถานที่จัดงานอย่างเร่งด่วนนั้น ทางเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ มีข้อสังเกตดังนี้

ข้อหนึ่ง เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติก่อตั้งขึ้น และดำเนินกิจกรรมโดยตั้งอยู่บนหลักเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปสังคม เพราะเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในบรรยากาศที่เปิดกว้างเท่านั้น ที่เป็นเครื่องรับประกันได้ว่ารัฐธรรมนูญและนโยบายสาธารณะทุกรูปแบบจะถูกจัดทำขึ้นโดยสอดรับกับความต้องการของประชาชน และนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมได้จริง โดยเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ขอยืนยันยึดมั่นในหลักการนี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง

ข้อสอง ความพยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือการต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนแสดงความคิดเห็นในประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่วิธีการที่จะค้นหาคำตอบให้กับสังคมอย่างยั่งยืนได้ มีแต่จะสร้างความรู้สึกอึดอัดและแปลกแยก จนบ่มเพาะให้สังคมเต็มไปด้วยความแตกแยกที่ฝังรากลึกมากขึ้นทุกวัน ช่วงเวลาที่สังคมมีความขัดแย้งสูงอย่างในปัจจุบัน ไม่มีกระบวนการใดจะเป็นเครื่องมือพาสังคมเดินหน้าไปได้นอกจากการเปิดพื้นที่ให้ทุกความคิดเห็นได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างอิสระ  

ข้อสาม ในบรรยากาศที่กำลังจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และกำลังจะมีการลงประชามติโดยประชาชน หลักการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น หากประชาชนถูกปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้พูดคุยกันในประเด็นรัฐธรรมนูญ ย่อมทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งขาดความชอบธรรมอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ยิ่งสูญเสียความชอบธรรมมากขึ้นไปอีก และรัฐธรรมนูญที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการเหล่านี้ก็ไม่อาจได้รับการยอมรับจากสังคมเมื่อนำไปบังคับใช้

แม้จะมีความพยายามใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อสร้างบรรยากาศที่ปิดกั้นขึ้นในสังคม ทำให้การจัดกิจกรรมมีอุปสรรคบ้างในช่วงเวลาสองสามวันที่ผ่านมา เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ยังคงยืนยันจะเดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างสำหรับทุกฝ่ายต่อไป โดยขอชักชวนให้ประชาชนทุกฝักฝ่าย และทุกภาคส่วนของสังคม ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการพยายามสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปสังคมให้มากที่สุดต่อไป แม้ภายใต้บรรยากาศที่มีข้อจำกัดในนามของความมั่นคงอย่างในปัจจุบัน

 

เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ

28 กุมภาพันธ์ 2559

 

โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 15.30 น. ที่คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เว็บไซต์ประชามติจัดงานแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ากดดันไม่ให้มีการจัดกิจกรรม รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ? และแถลงจุดยืนของเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้บรรยากาศที่เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นถูกปิดกั้น ร่วมแถลงข่าวโดย จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวไทยพับลิก้า เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ iLaw

หลังจากสิ้นสุดแถลงการณ์ ยิ่งชีพ กล่าวว่า ส่วนตัวเป็นคนประสานกับเจ้าหน้าที่ทางหอศิลปและเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารโดยตรง และเห็นได้ชัดว่าผู้ที่ไม่อยากให้มีการจัดกิจกรรมนี้คือเจ้าหน้าที่ทหาร มีความพยายามจะไม่ออกหน้าเอง โดยให้ตำรวจเป็นผู้ออกสื่อ “หลังจากที่ตนชี้แจงกับทหาร ทหารก็ชี้แจงว่ากำลังพิจารณาแต่อันที่จริงไม่ได้พิจารณาตามที่กล่าวไว้ และบีบให้หอศิลปเป็นฝ่ายออกคำสั่งยกเลิกงาน ส่วนตัวคิดว่าทหารควรจะกล้าออกหน้าด้วย” 

สฤณี กล่าวว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิด การจะให้ลงประชามติภายใต้บรรยากาศที่มีคำสั่งของ คสช. นั้นเป็นการลงประชามติแบบไม่เปิดกว้าง

จอน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนชาวไทย หมายความว่าประเทศนี้มีประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกันรัฐธรรมนูญคือการอยู่ร่วมกันของประชาชน ประชาชนต้องมาตกลงกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร แต่ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นไม่ได้ร่างขึ้นโดยประชาชนหรือรับฟังความเห็นของประชาชนในระดับกว้าง

“ทางผู้มีอำนาจพยายามให้มีการจัดประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งประชามติควรเกิดขึ้นหลังจากประชาชนรับรู้ข้อมูลอย่างทั่วด้าน แต่ขณะนี้ การที่ประชาชนจะได้รับทราบรายละเอียดของรัฐธรรมนูญนั้นถูกปิดกั้น ซึ่งถ้าสถานการณ์นี้ยังมีต่อไปจนถึงเวลาประชามติ ประชามติที่ได้มาก็ไม่มีความหมาย เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น” ผู้มีอำนาจควรเปิดโอกาสให้คนได้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชนก็ควรมีสิทธิเสรีภาพในการเสนอมุมมองในส่วนต่างๆ ของสังคม และต่อข้ออ้างที่ว่าการจัดกิจกรรมนี้จะเป็นสาเหตุของความวุ่นวายนั้น คิดว่าเป็นเพียงข้ออ้างของผู้มีอำนาจที่กลัวว่าตนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า เพราะถ้ามองว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน ก็ต้องยึดมั่นว่าประชาชนคือผู้กำหนดอนาคตของประเทศชาติ “เราไม่มีเจตนาให้เกิดความวุ่นวาย แต่อยากเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างสันติเท่านั้น” 

เอกพันธุ์ กล่าวว่า ในกระบวนการที่จะเกิดการลงประชามติก็เป็นกระบวนการที่ตั้งบนฐานการตัดสินใจของประชาชน และจะเกิดได้เมื่อประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในอำนาจที่ตนจะได้ใช้ ประชาชนควรรับทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญ มีจุดบกพร่องและมีข้อดีอย่างไร “กระบวนการที่ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนจึงผิดหลักของประชาธิปไตย ทางกลุ่มจึงยืนยันว่าการแลกเปลี่ยนของประชาชนนั้นเป็นส่วนสำคัญมากที่สุด ไม่ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะผ่านหรือไม่ แต่ถ้าประชาชนได้ตัดสินใจทำประชามติบนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจ ผลที่ออกมาก็เป็นที่ยอมรับได้แน่นอน” 

ที่มา: มติชนออนไลน์