ประชามติBrexit: ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้อง "ได้ดังใจ"

เกมกีฬาใดๆ ย่อมมีผู้แพ้และผู้ชนะ ประชาธิปไตยก็เช่นกัน บทเรียนจากความอกหักของประชามติ Brexit ในสหราชอาณาจักร กับผลการลงคะแนนที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนแต่ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับ สะท้อนวัฒนธรรมและการเรียนรู้ในสังคมประชาธิปไตย
 
 
ที่มาภาพ Descrier
 
 
เมื่อผลการลงประชามติของประชาชน 4 ชาติในสหราชอาณาจักร (UK) อันได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์ ในประชามติเบร็กซิท (Brexit) ออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52 ต้องการให้เบร็กซิท หรือให้สหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ตกตะลึงกันไปทั่วโลกแม้กระทั่งตัวคนที่โหวตให้ "ออก" เอง เพราะคะแนนที่กาลงไปไม่ได้เพียงตัดสินชะตากรรมของประเทศ แต่ผลสะเทือนต่อระดับภูมิภาคและทั่วโลกในระยะยาว
 
ประชามติครั้งนี้เพื่อหยั่งเสียงถามความเห็นประชาชน ไม่มีผลทางกฎหมายโดยตรง แต่ในวัฒนธรรมประชาธิปไตยก็ย่อมกำหนดไปโดยปริยายว่าต้องเคารพในมติที่ออกมา 
 
สหราชอาณาจักรเข้าเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 1973 ชาวบริเตนส่วนหนึ่งตั้งแง่ต่อการเป็นสมาชิกสหภาพฯ เพราะมองว่าประเทศตัวเองจ่ายไปมากกว่าที่ได้มา อีกทั้งอำนาจและความอิสระในการตัดสินใจเชิงนโยบายหลายๆ เรื่องก็หายไปเพราะต้องไปผูกพันกับกฎระเบียบของอียู การเข้าร่วมเป็นตลาดเดียวในอียูก็มาพร้อมกับข้อแลกเปลี่ยนว่าด้วยเสรีภาพในการเดินทางที่ทำให้เพื่อนชาติสมาชิกสามารถเข้าออกในสหราชอาณาจักรได้
 
ที่มาที่ไปที่นำมาสู่การลงประชามติครั้งนี้ เริ่มขึ้นเมื่อ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยมหาเสียงเอาไว้เมื่อก่อนเลือกตั้งในปี 2015 ว่า หากเขาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจะยอมให้จัดประชามติ Brexit แม้ส่วนตัวเขาเองจะมีจุดยืนชัดเจนที่อยากให้สหราขอาณาจักรอยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป แต่จำเป็นต้องโฆษณาตัวเองเอาไว้เช่นนั้นเพื่อดึงเกมการเมืองความแตกแยกภายในพรรค
 
 
ภาพนาย เดวิด คาเมรอน จากเว็บไซต์ express.co.uk
 
ต้องยอมรับว่าคำหาเสียงนี้ถูกใจคนจำนวนมาก และได้รับเสียงตอบรับที่ดี คาเมรอนในฐานะผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ทันทีที่ผลการลงประชามติออกมาเช่นนี้ คาเมรอนก็แถลงข่าวประกาศลาออกจากตำแหน่งแสดงความรับผิดชอบโดยทันที
 
 
ว่าด้วยตัว "คำถาม" ในประชามติ Brexit
เดิมที คำถามของการประชามติเป็นคำถามแบบ เยส-โน ให้ตอบแค่ว่า ใช่-ไม่ใช่ โดยคำถามมีอยู่ว่า 
 
"Should the United Kingdom remain a member of the European Union?
หรือพอจะแปลเป็นไทยว่า "สหราชอาณาจักรควรรักษาสมาชิกภาพในสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่"
 
แต่ต่อมา คณะกรรมการเลือกตั้งของเขามองว่า วิธีการตั้งคำถามแบบนี้จะไม่เป็นธรรม รัฐบาลจึงแก้ไขรูปประโยคคำถามเป็น: 
 
"Should the United Kingdom remain a member of the European Union or leave the European Union?"
"สหราชอาณาจักรควรอยู่ต่อเป็นสมาชิกภาพในสหภาพยุโรป หรือควรออกจากสหภาพยุโรป"
 
โดยตัวเลือกคำตอบ ก็จะเปลี่ยนจากคำถามแบบใช่-ไม่ใช่ มาเป็น "อยู่ต่อเป็นสมาชิกสภาพในสหภาพยุโรป" และ "ออกจากสหภาพยุโรป" (Remain, Leave)
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งซึ่งเป็นฝ่ายผลักดันให้แก้ไขตัวคำถามนี้ให้เหตุผลว่า คำถามของการทำประชามติต้องชัดเจน เพื่อที่ผู้ลงคะแนนจะได้เข้าใจถึงความสำคัญในแต่ละตัวเลือก ก่อนจะออกแบบตัวคำถาม มันต้องผ่านการทดสอบความเข้าใจจากคนทั่วไปผ่านความเห็นของกลุ่มรณรงค์ทั้งสองฝ่าย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาด้วย
 
 
กตต.ของเขา จัดการดูแลการณรงค์อย่างไร
ข้อมูลจากเว็บไซต์ไทยพับลิก้า บอกว่า กฎหมายแดนผู้ดี กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่สนับสนุนให้กลุ่มรณรงค์ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะ leave หรือ remain ได้ออกมารณรงค์ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างเต็มที่ โดย “ทุกคน” สามารถเป็นผู้รณรงค์ (campaigner) ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของบุคคลหรือองค์กร แต่หากต้องการใช้จ่ายเงินเกินกว่า 10,000 ปอนด์ (ราว 5 แสนบาท) จะต้องมาลงทะเบียนกับ กกต.อังกฤษ เพื่อให้เป็น “ผู้รณรงค์แบบลงทะเบียน” (registered campaigner) โดยจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดบางอย่าง
 
ทั้งนี้ กกต.อังกฤษยังสามารถเลือกกลุ่มรณรงค์ใดขึ้นมาเป็น “ผู้รณรงค์หลัก” (lead campaigner) ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษเหนือผู้รณรงค์อื่นๆ อาทิ มีสิทธิใช้จ่ายเงินได้สูงถึง 7 ล้านปอนด์ (ราว 350 ล้านบาท), ได้พื้นที่ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของ กกต.อังกฤษ, ได้ออกรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับการทำประชามติ, ได้เงินกินเปล่า 600,000 ปอนด์ (ราว 30 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายใน ฯลฯ
 
สำหรับกรณี Brexit กลุ่มรณรงค์หลักของฝ่าย “อยู่ต่อ” คือ กลุ่ม Britain Stronger in Europe ส่วนกลุ่มรณรงค์หลักของฝ่าย “ถอนตัว” คือ กลุ่ม Vote Leave ที่มี “นายบอริส จอห์นสัน” อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ซึ่งว่ากันว่าเป็น candidate นายกฯ อังกฤษคนต่อไปหลังนายคาเมรอนลงจากตำแหน่ง เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลัก
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มรณรงค์อื่นๆ อีกหลายสิบกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในการทำประชามติครั้งนี้ อาทิ กลุ่ม Labour In for Britain, กลุ่ม #INtogether, กลุ่ม Greens for a Better Europe ฯลฯ สำหรับฝ่าย “อยู่ต่อ” และกลุ่ม Leave.EU, กลุ่ม Grassroots Out, กลุ่ม Better Off Out ฯลฯ สำหรับฝ่าย “ถอนตัว” เป็นต้น
 
บรรยากาศการรณรงค์ “อยู่ต่อ” (ป้ายสีแดง) หรือ “ถอนตัว” (ป้ายสีฟ้า)
ที่มาภาพ เว็บไซต์ National Post
 
 
คู่มือว่าด้วยการทำประชามติเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอียูของอังกฤษ (Media Handbook: Referendum on the United Kingdom’s Membership of the European Union) ที่เผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ของ กกต.อังกฤษ ก็จะพบว่า กกต. แห่งเกาะร่ำรวยเชื้อชาตินี้ ไม่ได้มีหน้าที่ในการไปไล่จับผิด “เนื้อหา” การรณรงค์ประชามติ จะ Brexit หรือ remain ก็สามารถว่ากันไปได้อย่างเต็มที่
 
การกระทำผิดใดๆ เกี่ยวกับ “เนื้อหา” การรณรงค์ในบางกรณีจะเป็นหน้าที่ของตำรวจ เช่น ความผิดฐานทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความสงบเรียบร้อยสาธารณะ พ.ศ. 2529 (Public Order Act 1986) ในบางกรณีก็เป็นเรื่องที่คู่กรณีจะต้องไปยื่นฟ้องกันเอง เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาทใส่ร้ายป้ายสี
 
บทบาทของ กกต.อังกฤษ อยู่ที่การประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนออกมาใช้สิทธิ โดยเฉพาะการเชิญชวนให้คนมาลงทะเบียน เพราะก่อนจะไปออกเสียงได้จะต้องลงทะเบียนก่อน โดยสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า กกต.อังกฤษใช้งบในประชาสัมพันธ์ Brexit ไปถึง 6.4 ล้านปอนด์ (ราว 320 ล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินโฆษณาทางโทรทัศน์ รวมถึงการจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์หนาแปดหน้าเพื่อแจกจ่ายไปยังครัวเรือนในอังกฤษทั้ง 27 ล้านหลัง
 
 
 
กระแสหลังผลประชามติ
แม้กระทั่งนักการเมืองในสายขวาจัดที่รณรงค์ให้ "ออก" ก็ยังไม่คาดคิดว่าจะชนะคะแนนครั้งนี้ เพราะในทันทีที่ปิดหีบเลือกตั้ง ไนเจิล ฟาราจ หัวหน้าพรรคยูคิป (UKIP) พรรคการเมืองขวาจัดในอังกฤษ ก็ยังให้สัมภาษณ์เชื่อว่าฝ่าย "อยู่ต่อ" น่าจะชนะ แต่สุดท้าย ผลก็ออกมาว่าคะแนนของฝ่าย "ออก" ก็มากกว่าราวล้านกว่าเสียง
 
ผลประชามติครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความคิดที่แตกต่างกันชัดเจนในแต่ละกลุ่มประชากร เมื่อพิจารณาจากกลุ่มอายุ ก็พบว่า กลุ่มประชากรที่อายุน้อยกว่ามีความเชื่อมั่นในการรวมตัวกันในสหภาพยุโรป ขณะที่กลุ่มคนสูงอายุอยากจะให้แยกตัวเพื่อนำอธิปไตยของประเทศกลับคืนมา
 
ในแง่ของภูมิศาสตร์ ขณะที่อังกฤษและเวลส์โหวตให้ออก แต่สกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือมีเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้อยู่ต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกอตแลนด์ที่คะแนนออกมาห่างไกลจากคำว่าสูสี เพราะฝ่ายอยากให้อยู่ต่อชนะคะแนนไปที่ 62 ต่อ 38 เลยทีเดียว
 
ไม่เพียงแต่เรื่องประชากรและภูมิศาสตร์ที่แบ่งทัศนะของคนในสังคมชัดเจน ทิศทางกระแสข่าวที่มีเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็สะท้อนความแตกแยกในตัวมันเอง คนที่โหวตให้ออกมักถูกกล่าวหาในสื่อว่าเป็นกลุ่มไม่มีการศึกษา คลั่งชาติขวาจัด หวาดกลัวผู้อพยพ จนไปตัดสินเอาตัวเองออกจากสหภาพโดยไม่ทันไตร่ตรองว่ามันทำให้กระเทือนต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศซึ่งเป็นการเอาอคติมาทำร้ายตัวเอง แต่เรื่องนี้ ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ถึงช่องว่างทางความคิดของฝ่ายให้ออกและฝ่ายอยู่ต่อ
 
ฝ่ายที่มีจุดยืนอยากให้ "อยู่ต่อ" ก็ถูกวิจารณ์เช่นกันว่าวางใจเกินไป เพราะปัญหาใหญ่ของการทำประชามติครั้งนี้คือเรื่องข้อมูลที่หยิบยกขึ้นมาถกเถียงซึ่งวนเวียนกับการกระพือความรู้สึกเชิงอธิปไตยและแนวคิดชาตินิยมที่ถูกหยิบมาใช้สะกิดต่อมให้เกิดความหวาดกลัวและเกลียดคนต่างชาติที่เป็นผู้อพยพเข้ามาในประเทศ และการเอาแต่ก่นด่าอีกฝ่ายโดยไม่ได้ใช้ข้อมูลและหลักเหตุผลมาเสริม
 
สำนักข่าวดิอินดิเพนเดนท์ของอังกฤษที่แสดงจุดยืนชัดเจนให้อยู่ต่อ ถึงกับค่อนแขวะว่า หลังผลประชามติออกมาก็ปรากฏว่าสถิติคำค้นหาในกูเกิ้ล พบว่าคำว่า สหภาพยุโรป เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก สื่อพากันสัมภาษณ์คนที่โหวตให้ออกที่ต่างพูดว่าเสียใจ และถ้าโหวตใหม่คงจะเลือก Remain 
 
ที่กลายเป็นเรื่องขำขันไปคือ ความช็อคและเสียใจจากผลประชามติ ทำให้มีคนไปตั้งกระทู้จดหมายเปิดผนึกออนไลน์ ให้คนลงชื่อเพื่อเสนอให้รัฐสภาจัดประชามติรอบสองเพื่อขอแก้ตัวใหม่ จดหมายนี้มีจำนวนคนเข้าชื่อเกินสามล้านคน แต่เมื่อค้นข้อมูลลึกลงไปก็จะพบว่า คนที่มาตั้งจดหมายทำคำร้องนี้ เขียนขึ้นตั้งแต่ก่อนวันลงประชามติ และยังเป็นการตั้งกระทู้ขึ้นจากคนในจุดยืนกลุ่ม "ให้ออก" ที่เก็งคะแนนเอาไว้ว่าคงจะเป็นฝ่ายแพ้จึงเตรียมเคลื่อนไหวไว้ล่วงหน้าว่าจะขอให้จัดทำประชามติอีกครั้งแทน 
 
แต่ท้ายที่สุด ทุกฝ่ายคงรู้ดีว่า ผลมันออกมาแล้ว จะพอใจหรือไม่ก็ต้องยอมรับ เพราะสำหรับอารยะประเทศ การลงคะแนนเสียงถือเป็นกติกาสำคัญที่ใช้วัดความต้องการของประชาชน 
 
 
ภาพการเดินขบวนรณรงค์ ของฝ่ายโหวต Remain ในกรุงลอนดอน
ที่มาภาพ Getty Image
แม้แต่ เดวิด คาเมรอน ที่ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ยังบอกต่อสาธารณชนว่า "The British people have voted to leave the European Union and their will must be respected."
 
หรือพอจะแปลเป็นไทยได้ว่า "ชาวสหราชอาณาจักรได้ลงคะแนนแล้วว่าจะออกจากสหภาพยุโรป และเจตนารมรณ์นี้ต้องได้รับการเคารพ"
 
บทเรียนที่ได้จากประสบการณ์การลงประชามติ Brexit สะท้อนความสำคัญของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำประชามติ ตั้งแต่เรื่องตัวประโยคคำถาม ผลกระทบที่เกิดขึ้น ข้อมูลแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และรวมถึงพื้นที่เสรีที่จะทำให้ประชาชนถกเถียงข้อมูลโดยไม่ต้องหวาดกลัว 
 
ไม่ว่าอย่างไร ผลที่ออกมาก็ต้องมีฝ่ายที่เสียใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตยที่ใจความสำคัญคือ "กระบวนการ" ส่วนความผิดหวังและบทเรียนจากข้อผิดพลาดคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของประชาชนนั่นเอง
 
 
 
 
 
__________