คำถามพ่วงประชามติ : "ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วง 5 ปีแรก"

7 เมษายน 2559 เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา รายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติตัดสินใจเลือก "คำถามพ่วง" ที่จะถามประชาชนควบคู่ไปกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเลือกคำถามที่เสนอโดยสปท.ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 152 คน งดออกเสียง 15 คน จากผู้เข้าประชุม 167 คน

ขั้นตอนหลังจากนี้ สนช.จะส่งคำถามนี้ให้กับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อนำไปจัดทำประชามติ เท่ากับว่า ในการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะมีคำถามสองคำถาม คือ เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ หรือไม่ และคำถามนี้

 

ขยายความคำถามพ่วง

1) ตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติครั้งนี้ และตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 กำหนดเหมือนกันว่า ให้ "สภาผู้แทนราษฎร" หรือ ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วน "วุฒิสภา" หรือ ส.ว. นั้นไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่หลักการของคำถามพ่วงที่ สนช.ลงมติเลือกไปนั้น เขียนว่าให้ "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" พิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี หมายความว่าให้ ทั้ง ส.ส. 500 คน และ ส.ว. อีก 250 คน ลงมติร่วมกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

โดยตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรกให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการตัดสินใจเลือก ส.ว. ทั้ง 250 คน (อ่านต่อที่http://ilaw.or.th/node/4069)

2) การที่คำถามพ่วง กำหนดว่าให้ใช้ "ในระหว่าง 5 ปีแรก" หมายความว่า ให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งและมีรัฐสภาชุดแรก โดยไม่จำกัดว่าจะให้เลือกนายกรัฐมนตรีกี่คน

ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 99 กำหนดให้ สภาผู้แทนราษฎรทุกชุด มีวาระ 4 ปี ดังนั้น หากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนี้ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ครบวาระ และมีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็ยังเลือกโดย ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกัน เท่ากับว่า ส.ส.และ ส.ว.จะร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างน้อย 2 คน และหากนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนอยู่ครบวาระ ประเทศไทยก็จะมีนายกรัฐมนตรีที่เข้ามาทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเวลา 8 ปี

หรือหากภายในระยะเวลา 5 ปีแรกนายกรัฐมนตรีที่เข้ารับตำแหน่งลาออก หรือต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หรือต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น ส.ส.และส.ว.ก็ยังจะร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปภายในระยะเวลานี้ ไม่ว่าจะต้องเลือกกี่คนก็ตาม

3) ส่วนที่กำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของคำถามพ่วงไว้ว่า "เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ" นั้น สำหรับ "แผนยุทธศาสตร์ชาติ" ที่อ้างถึง ปัจจุบันยังไม่ได้จัดทำขึ้น แต่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ มาตรา 275 กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเป็นผู้จัดทำขึ้น โดยมีเวลาจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติภายใน 120 วันนับจากร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ และให้เวลาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติต่ออีกภายใน 1 ปี

โดยในมาตรา 162 ยังกำหนดด้วยว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งจะต้องแถลงนโยบายซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาตินี้ด้วย เท่ากับว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะมีผลต่อนโยบายการบริหารประเทศ และส่งผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในอีก 5 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งแรกนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้จัดทำขึ้น และยังไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร

 

 

 

 

ผลของคำถามพ่วงหลังลงประชามติ

หากประชาชนเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนี้ จะทำให้ได้วิธีการเลือกนายกรัฐมนตรที่ไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 37/1 และ 39/1 วรรค 12 กำหนดทางแก้ปัญหากรณีเช่นนี้ไว้ว่า ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ภายใน 30 วัน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ส่วนที่แก้ไขนั้นสอดคล้องกับคำถามพ่วงแล้วหรือไม่ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป

แต่ปัญหาต่อไปยังมีว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ แต่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบกับคำถามพ่วงนี้ ผลจะเป็นอย่างไร? ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความแน่ชัดจากทาง คสช. ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ แล้วจะมีกระบวนการอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป และก็ทำให้ยิ่งไม่ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับต่อไปจำเป็นต้องสอดคล้องกับคำถามพ่วงนี้ด้วยหรือไม่

และหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีโอกาสที่ข้อเสนอเรื่องการให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ตามคำถามพ่วงนี้ จะกลับมาได้อีกหรือไม่

 

ความเห็นประชาชน

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ประชามติทำกิจกรรมระดมความคิดเห็นของประชาชนผ่านเฟซบุ๊กประชามติ ว่าอยากจะตั้งคำถามอะไร เป็นคำถามพ่วง ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่ากว่า 600 ความคิดเห็นที่ตอบเข้ามามีหลากหลาย แต่เมื่อสรุปแล้วมีข้อเสนอที่ตั้งคำถาม ที่มีคนกดไลค์แสดงความชื่นชอบกันมากอยู่สามคำถามหลัก คือ

คำถาม 1 “เห็นชอบหรือไม่ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้” 
คำถาม 2 “เห็นชอบหรือไม่ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านให้รัฐบาล คสช.ลาออกทั้งหมด” และ
คำถาม 3 “เห็นชอบหรือไม่ ยกเลิกนิรโทษกรรม รัฐบาล คสช.”

ขณะที่ผลโหวตจากแอพลิเคชั่น People Poll ในประเด็นเดียวกัน นับถึงวันที่ 6 เมษายน 2559 จากผู้เข้าร่วมตอบคำถาม 753 คน พบว่า ประชาชนจำนวนเกินครึ่ง คือ 65.5% (493 คน) ไม่ทราบว่าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะมีคำถามเพิ่มเติมอีกหนึ่งคำถาม เมื่อถามว่าประชาชนอยากให้คำถามไหนเป็นคำถามเพิ่มเติมในการลงประชามติมากที่สุด ผลคือ 47.1% (355 คน) เห็นว่าอยากให้ตั้งคำถาม หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ ขณะที่คำถามที่เสนอจาก สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ให้ ส.ว.มีอำนาจร่วมกับ ส.ส.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี มีประชาชนเห็นด้วย 7.4% (56 คน)